วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2551

การต่ออายุใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ ประจำปี 2551 (2)

ข่าวรอบเมืองเหนือโดย : ส.ปชส.ลำปาง สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3
วันที่ : 28 พฤศจิกายน 2550 เวลา : 16:41:15
การต่ออายุใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ ประจำปี 2551
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำปาง ได้รับแจ้งจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปาง ว่า สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปาง ได้มีประกาศการต่ออายุใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ ประจำปี 2551 เพื่อให้ผู้ที่ทำการค้าขายอาหารสัตว์ทราบ เนื่องจากใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2550โดยให้ดำเนินการยื่นคำขอก่อนที่ใบอนุญาตขายอาหารสัตว์จะหมดอายุภายในวันที่ 1 – 31 ธันวาคม 2550 ในเวลาราชการ (08.30 – 16.30 น.) ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปาง หรือ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพื้นที่ โดยเตรียมเอกสารประกอบยื่นคำขอดังนี้
1. ใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ฉบับเดิม(ของปี 2550) 2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ฉบับ ส่วนผู้ใดที่ฝ่าฝืน โดยทำการขายอาหารสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติ ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2550 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปาง หมายเลขโทรศัพท์ 054-218127 ต่อ 13 .////
ผู้สื่อข่าว : ส.ปชส.ลำปาง / ข่าว
close/ปิดหน้าต่างนี้
function printit(){
if (NS) {
window.print() ;
} else {
var WebBrowser = '';
document.body.insertAdjacentHTML('beforeEnd', WebBrowser);
WebBrowser1.ExecWB(6, 2);//Use a 1 vs. a 2 for a prompting dialog box WebBrowser1.outerHTML = "";
}
}


var NS = (navigator.appName == "Netscape");
var VERSION = parseInt(navigator.appVersion);
if (VERSION > 3) {
//document.write('');
printit()
}

วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2551

ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับพิธีพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

น.ส.พ. มติชนรายวัน รายงาน ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับพิธีพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไว้อย่างละเอียดลออ ดังนี้


1.สางพระเกศาขึ้น-ลง 1 ครั้ง แล้วหักพระสางทิ้ง

การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สางพระเกศาพระศพขึ้น 1 ครั้ง ลง 1 ครั้ง แล้วหักพระสางวางไว้ในพาน แสดงถึงว่าเป็นการสาง (หวี) พระเกศาครั้งสุดท้าย สางพอเป็นสัญลักษณ์พอเป็นพิธี เพื่อแสดงว่าไม่ต้องการความสวยงามใดๆ อีกแล้ว เป็นเครื่องหมายว่าหมดประโยชน์ ไม่มีความจำเป็นต้องแต่งกายใดๆ อีกแล้ว และเมื่อหักสางทิ้งไปแล้ว ก็จะเอาไปไว้ที่ไหนก็ได้ ซึ่งเหมือนกับประเพณีของประชาชนด้วย ที่แสดงว่าจะไม่ได้ใช้สางนั้นอีกต่อไปแล้วจึงต้องหักทิ้งไป


2.เศวตฉัตรประกอบพิธีพระศพ

เศวตฉัตรประกอบพิธีพระศพนั้นจะแตกต่างกันไป ตามพระอิสริยยศที่แตกต่างกัน

ฉัตร 9 ชั้น : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ฉัตร 7 ชั้น : สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระบรมราชกุมารี
ฉัตร 5 ชั้น : สมเด็จเจ้าฟ้า ในส่วนพิธีพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้นจะเรียกว่า "เบญจปฎลเศวตฉัตร" หมายถึงฉัตรขาวที่มีเพดาน 5 ชั้น


ขั้นตอนเมื่อเชิญพระศพมายังพระบรมมหาราชวังแล้ว จะเชิญพระศพไปประดิษฐานที่พระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งอยู่ด้านหลังทางทิศใต้ของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งพระที่นั่งองค์นี้จะเป็นวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระอัครมเหสี และเจ้านายฝ่ายในชั้นสูง แต่ในระยะหลังจะใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพ ในการสรงน้ำพระศพ เมื่อสรงน้ำพระศพที่พระที่นั่งพิมานรัตยาแล้วจึงจะอัญเชิญพระศพไปประดิษฐานที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท การประดิษฐานพระศพตามราชประเพณีอยู่ทางมุขด้านตะวันตก พระโกศสำหรับสมเด็จเจ้าฟ้าจะใช้พระโกศทองใหญ่ และใช้เครื่องสูงทองแผ่ลวด มุขด้านใต้จะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร (พระประจำวันเกิด) ซึ่งพระพุทธประจำพระชนมวารของสมเด็จพระพี่นางเธอฯ คือ พระพุทธรูปปางถวายเนตร ซึ่งเป็นปางประจำวันเกิดวันอาทิตย์ งานหลังจากนี้ต่อไปจนถึง 100 วัน จะเป็นการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม พระพิธีธรรมจะเป็นงานที่ใช้เฉพาะงานหลวง จะสวดทั้งวันทั้งคืน มีการย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง มีปี่ กลอง ประโคม ด้วยทำนองที่เศร้าสร้อย


3.ประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง


การสวดพระพิธีธรรมพระอภิธรรม จะมีการประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง มีปี่ กลอง ประโคม ด้วยทำนองที่เศร้าสร้อย ตั้งแต่ 06.00 น. 09.00 น. 12.00 น. ไปจนถึง 24.00 น. เพื่อบอกเวลาว่าครบ 3 ชั่วโมง ก็จะประโคมขึ้นหนึ่งครั้ง ส่วนการสวดพระอภิธรรมจะสวดทั้งวันทั้งคืน แต่จะมีเวลาพักเว้นระยะเป็นช่วงๆ อาจจะหยุดพักสัก 10-15 นาที ซึ่งจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเจ้านายชั้นสูงขึ้นไป โดยหลักคิดก็จะไม่แตกต่างกับการจัดงานศพของประชาชนทั่วไปตามหลักพระพุทธศาสนา แต่อาจจะเพิ่มรายละเอียด ปริมาณและคุณภาพเข้ามา ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเจ้าภาพที่จะจัดงานนอกจากนี้จะมีการบำเพ็ญพระราชกุศลเมื่อครบ 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน พิธีกรรมก็จะเหมือนกัน นั่นคือ มีการสวดมนต์ แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ สดับปกรณ์ (บังสุกุล)


4.สมเด็จพระพี่นางเธอฯ อยู่ในลำดับพระอิสริยยศชั้น 'เจ้าฟ้า'

ภาษาที่ใช้เรียกในการประกอบพิธีพระบรมศพ พระศพ จะแตกต่างกันตามพระอิสริยยศ โดยสมเด็จเจ้าฟ้า จะเรียกว่า พระศพ ส่วนพระยศที่สูงกว่า ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระบรมราชกุมารี จะเรียกว่า พระบรมศพŽ ส่วนพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ ตามราชประเพณีจะสร้างพระเมรุในช่วงฤดูแล้งประมาณเดือนมีนาคม เมษายน ทั้งนี้แล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ


5.การแต่งฉลองพระองค์ไว้ทุกข์

การแต่งกายของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ สำหรับการไว้ทุกข์มี 2 แบบ ฉลองพระองค์เต็มยศ และฉลองพระองค์แบบสากล แบบแรกฉลองพระองค์ไว้ทุกข์ด้วยเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายจักรี ติดแขนทุกข์ใต้พระกรซ้าย และจะฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศสายสะพายจักรี ในการบำเพ็ญพระราชกุศลเมื่อครบ 7 วัน 50 วัน 100 วัน และวันออกพระเมรุ ส่วนแบบสากลฉลองพระองค์สูทสีดำ ติดแขนทุกข์ใต้พระกรซ้าย สำหรับข้าราชการ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็แต่งกายไว้ทุกข์ตามราชประเพณีตามแต่จะมีหมายกำหนดการกำหนดแจ้งไว้ ส่วนประชาชนก็แต่งกายไว้ทุกข์แบบสุภาพตามประเพณีที่ปฏิบัติ


6.ขบวนรถอัญเชิญพระศพเป็นแบบเรียบง่ายโดยรถโรงพยาบาล


ขบวนรถจะจัดอย่างไรก็ได้ไม่มีระเบียบแบบแผน และจะเป็นแบบเรียบง่ายที่ปฏิบัติกันมาในอดีตก็จะอัญเชิญโดยรถโรงพยาบาลเหมือนกันทุกพระองค์


7.การปฏิบัติตนไว้ทุกข์ของประชาชน


การปฏิบัติตนของประชาชนในการเข้าไปถวายสักการะพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคมเป็นต้นไปนั้น เบื้องต้นประชาชนควรแต่งกายไว้ทุกข์ตามประเพณีใส่เสื้อผ้าสีดำหรือสีขาว การกราบพระศพจะกราบครั้งเดียวไม่แบมือ สุภาพสตรีควรนุ่งกระโปรง เพราะตามธรรมเนียมที่จะไม่นุ่งกางเกงเข้าในพระบรมมหาราชวัง ถ้าเป็นไปได้ก็ควรสวมรองเท้าหุ้มส้น ถ้าไม่มีก็ต้องเป็นแบบเรียบร้อย ส่วนประชาชนทั่วไปที่จะแสดงออกเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สามารถทำได้ทุกอย่าง ทำที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ 10 มกราคม สามารถทำได้ทันที ทั้งการตักบาตร ทำบุญ บำเพ็ญกุศล บำเพ็ญทาน ถวายสังฆทานต่างๆ บวชพระ เลี้ยงพระ นิมนต์พระมาเทศน์ ก็สามารถทำได้

8.บรรจุพระศพลงหีบพระศพแทนพระโกศ

(ชัชพล ชัยพร) ตามโบราณราชประเพณีเมื่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เสด็จสวรรคต จะประกอบพิธีบรรจุพระบรมศพ พระศพ ลงในพระโกศ แต่ในรัชกาลปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เชิญพระบรมศพ และพระศพ ลงหีบพระศพ แทนใส่การใส่พระโกศ ซึ่งสามารถทำได้ตามพระราชอัธยาศัย ได้แก่ พระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ


หมายเหตุ : นายธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับพิธีพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ส่วนคำถามสุดท้าย นายชัชพล ชัยพร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ให้ข้อมูล



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์มติชน

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2551

สรุปรวม 7 วันระวังอันตรายมีผู้เสียชีวิต 401 ราย บาดเจ็บ 4,903 ราย

ศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 สรุปรวม 7 วันระวังอันตราย มีผู้เสียชีวิต 401 ราย บาดเจ็บ 4,903 ราย ซึ่งยอดลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
นายบัญญัติ จันทน์เสนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เป็นประธานพิธีปิดศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมแถลงยอดผู้เสียชีวิตของวันสุดท้าย 7 วัน ระวังอันตรายวันที่ 3 มกราคมนี้ เกิดอุบัติเหตุ 354 ครั้ง เสียชีวิต 32 ราย บาดเจ็บ 389 ราย โดยสรุปรวม 7 วันระวังอันตราย ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2550 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2551 เกิดอุบัติเหตุ 4,475 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 401 ราย ซึ่งน้อยกว่าปี 2550 จำนวน 48 ราย หรือร้อยละ 10.69 มีผู้บาดเจ็บรวม 4,903 ราย ซึ่งน้อยกว่าปี 2550 จำนวน 40 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย 157 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมน้อยที่สุด ได้แก่ จังหวัดยโสธร จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตมี 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เมาแล้วขับ รองลงมาขับรถเร็วเกินกำหนด ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์

หยุดโลกร้อนหยุดเผาตอซัง สร้างแปลงสาธิตไถ กลบ 514 แห่ง

นายยุทธชัย อนุรักติพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาภาวะโลกร้อนสำนักวิจัยและพัฒนาการ จัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน เผยว่า ในแต่ละปีภาคเกษตรมีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 58 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี โดยเกิดจากการเผาไหม้ เศษวัสดุที่เหลือจากการเกษตร เช่น การเผาฟางข้าว ข้าวโพด อ้อย และการหมักของเศษ วัสดุอินทรีย์ ซึ่งเป็นตัวการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ทั้งภาคปศุสัตว์และแหล่งน้ำ เป็นต้น ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดคือการรณรงค์ให้เกษตรกรลดเผาตอซังเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก
กรมได้จัดทำ “โครงการศึกษาวิจัยการสับกลบเศษพืชเพื่อลดการเผาตอซัง” งานวิจัยนี้เพื่อ เปรียบเทียบผลของการกักเก็บและการคงอยู่ของอินทรีย์คาร์บอน ระหว่างการเพาะปลูกพืช ในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งประเมินผลผลิตพืชที่ได้จากแปลงทดลองและปริมาณที่เหมาะสม ในการใช้เศษพืช เพื่อปรับปรุงดินและลดการเผาทิ้งของเศษพืชที่มีผลต่อการปลดปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเน้นการทำแปลงสาธิตสร้างจิตสำนึก และประชาสัมพันธ์ ให้เกษตรกรทราบถึงผลลัพธ์ดังกล่าว โดยตั้งเป้าดำเนินการในรูปแบบแปลงสาธิตกระจายอยู่ ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ 514 แปลงสาธิต รวมพื้นที่ 10,280 ไร่
นายยุทธชัยเผยอีกว่า ผลการวิจัยเสร็จสิ้นภายในปี 2551 เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ ไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรได้ตระหนักถึง ผลเสียของการเผาตอซังได้อย่างชัดเจนมากขึ้น นำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตรได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ลดการปลดปล่อยก๊าซสาเหตุของโลกร้อนอย่างน้อย 10% หรือ 5.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อปี ที่สำคัญยังก่อให้เกิดการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินทำให้ดินฟื้นคืนสภาพความอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน.

ช่วงปีใหม่มีร้านฝ่าฝืนขายเหล้าในเวลาต้องห้ามสูง

นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าววานนี้ (4 ม.ค.) ว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ผ่านมา พบว่ามีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการเมาสุรา ในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้ จึงได้สั่งการให้สำนักโรคไม่ติดต่อ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ สุ่มสำรวจการฝ่าฝืนจำหน่ายสุราในเวลาและสถานที่ที่กฎหมายกำหนดห้ามขาย ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2550 - 2 มกราคม 2551 ดำเนินการใน 32 จังหวัด
ผลการสำรวจสถานที่ห้ามขายสุราได้แก่ ปั๊มน้ำมัน บริเวณสถานศึกษา และบริเวณศาสนสถาน รวมทั้งบริเวณต่อเนื่องติดกับสถานที่ดังกล่าว รวมทั้งหมด 843 แห่ง พบมีการกระทำผิด 131 แห่งหรือร้อยละ 15 ใกล้เคียงกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2550 โดยปั๊มน้ำมันกระทำผิดมากสุด ร้อยละ 19 เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่พบร้อยละ 18 รองลงมาเป็น ศาสนสถาน ร้อยละ 6 และสถานศึกษา ร้อยละ 5 ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้พบมีการกระทำผิดลดลงจากเดิมกว่าครึ่ง ร้านค้าที่อยู่บนถนนสายรองมีการกระทำผิดร้อยละ 17 สูงกว่าร้านค้าที่อยู่บนถนนสายหลักที่พบร้อยละ 15 โดยจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการกระทำผิดค่อนข้างสูงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา แต่สถิติลดลงจากร้อยละ 72 ในปีใหม่ 2550 เหลือร้อยละ 44 ในปีใหม่ปีนี้ เหตุผลของการกระทำผิดคือ ไม่รู้ว่ามีกฎหมาย ร้อยละ 37 ต้องการมีรายได้ร้อยละ 14 คิดว่าน่าจะยกเว้นเพราะเป็นช่วงเทศกาล กลัวจะเสียลูกค้าประจำ และไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง พบใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 10
สำหรับการขายสุรานอกเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมี 2 ช่วงเวลา คือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. ได้สำรวจทั้งหมด 807 แห่ง พบกระทำผิดมากถึง 429 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 53 สูงกว่าปีใหม่ 2550 ที่พบร้อยละ 16 ถึงกว่า 3 เท่า โดยร้านค้าบนถนนสายรองมีการกระทำผิดสูงกว่าถนนสายหลัก จังหวัดที่มีการกระทำผิดสูงสุดได้แก่ ลำพูน ร้อยละ 89 รองลงมา ขอนแก่น ร้อยละ 80 เชียงใหม่ ร้อยละ 77 และสุราษฎร์ธานี ร้อยละ 75 เหตุผลของการกระทำผิดคือต้องการมีรายได้ร้อยละ 27 ไม่รู้ว่ามีกฎหมาย ร้อยละ 26 คิดว่าน่าจะมีการยกเว้นเพราะเป็นช่วงเทศกาล ร้อยละ 22 และไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ร้อยละ 13
ด้านนพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า ปีนี้มีการกระทำผิดทั้งการขายสุราในสถานที่และเวลาที่ห้ามขาย มากกว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการขายในเวลาห้ามขาย พบร้านค้าที่สำรวจมีการกระทำผิดสูงกว่าครึ่ง และสูงกว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาถึง 2 เท่าตัว โดยเหตุผลหลักคือไม่รู้ว่ามีกฎหมาย ส่วนที่รู้ว่ามีกฎหมายก็ยังกระทำผิดเพราะต้องการรายได้ และเห็นว่าน่าจะยกเว้นให้ในช่วงเทศกาล ดังนั้นจึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้กฎหมายมากขึ้น ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และควรเพิ่มโทษร้านค้าที่ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมทั้งเข้มงวดการออกใบอนุญาตขายสุราให้มากขึ้น อีกทั้งควรร่วมมือกันแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดกฎหมาย ที่หมายเลข 1713 ของกรมสรรพสามิต

เตรียมจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 'พระพี่นางเธอฯ

วานนี้ (4 ม.ค.) น.ส.จารุวรรณ จันทิมาพงษ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ด้านเหรียญกษาปณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์กำลังศึกษารูปแบบเพื่อเตรียมจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานพระเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเตรียมจัดทำสำหรับให้ประชาชนบริจาคตามคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี
น.ส.จารุวรรณ กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าจะจัดทำเหรียญที่ระลึกในรูปแบบเดียวกับเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี และงานพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ซึ่งประกอบด้วย เหรียญทองคำ เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง

อย่างไรก็ตาม จะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบ มูลค่า และช่วงเวลา ที่จะเปิดให้ประชาชนบริจาคเพื่อรับเหรียญที่ระลึก ภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน